ศิริราชเข้าถึงชุมชนารระบบสุขภาพ
“โครงการบางกอกน้อย 2”
สู่ความยั่งยืน

วันที่ 8 มิ.ย.66 เวลา 10.00 น. ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงข่าว “ศิริราชรุกเข้าถึงชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างยั่งยืน ในโครงการบางกอกน้อยโมเดล 2” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (SiMR) รพ.ศิริราช

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเชิงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ระบบสาธารณสุขควรรองรับโครงสร้างประชากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงริเริ่มการเตรียมความพร้อมเชิงระบบในพื้นที่ชุมชนกึ่งเมือง เพื่อเป็นต้นแบบเมืองสุขภาพดี (Healthy City) ชุมชนสุขภาพดี (Healthy Community) โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่บางกอกน้อย

จากการดำเนินงานโครงการบางกอกน้อยโมเดลที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 8 ปี มีการถอดบทเรียนในหลายมุมมอง อาทิ แผนบริหารโครงการ การประสานงานเครือข่าย รวมถึงขั้นตอนการลงชุมชน นำมาสู่การพัฒนาเฟสถัดมา “โครงการบางกอกน้อยโมเดล 2” บูรณาการระบบสุขภาพเชิงรุกให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เน้นการเตรียมความพร้อมด้านเปลี่ยนแปลงสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลตามช่วงวัย สะท้อนปัญหาที่เกี่ยวข้อง แก้ไขเชิงระบบจากต้นเหตุ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของผู้นำชุมชนและประชาชนในการร่วมพัฒนา ระดมความคิด ออกแบบบริบทของประชาชนในการจัดการสถานการณ์ตามพื้นที่ร่วมกับ สสส. ในการขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าสังคมปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเร่งดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจหลัก ในส่วนของการจัดการศึกษา การฝึกอบรม การวิจัย การบริการทางการแพทย์ มุ่งหวังที่จะขับเคลื่อน และเชื่อมโยงกลไกการบริหารต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ รวมถึงพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความหลากหลายทั้งเชิงกลไกและบริบทของพื้นที่ เพื่อการวางแผนการใช้ประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างโมเดลชุมชนสุขภาพดี โดยเริ่มจากพื้นที่ชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช

นั่นคือ ชุมชนเขตบางกอกน้อย ซึ่งได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพของชุมชน เพื่อนำไปออกแบบการแก้ไขปัญหาสุขภาพให้เหมาะสมกับชุมชน พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนากิจกรรม โครงการ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่ตอบสนองต่อการสร้างระบบสุขภาพของประชาชน

นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสามารถมีศักยภาพในการช่วยสนับสนุนกระบวนสร้างสุขภาพ และสุขภาวะของชุมชนบางกอกน้อยในมิติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมทางสุขภาพในชุมชนเมืองที่ครอบคลุมมิติด้านสุขภาพ สังคม ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง การร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรสามารถส่งมอบสุขภาวะและคุณภาพชีวิตให้กับสังคมต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สสส. จึงให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวภายใต้พันธกิจ “จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดจำกัดความสามารถ และสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะ”

การจัดการระบบสุขภาพชุมชนบางกอกน้อย ดำเนินงานผ่านโครงการทั้งหมด 8 โครงการ ได้แก่

1. โครงการพัฒนาต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนกึ่งเมือง สร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เกิดการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนรถพยาบาลมาถึง เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตแก่ผู้ป่วย

2. โครงการรูปแบบระบบการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศโดยชุมชนในบางกอกน้อยโมเดล พัฒนาระบบการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติในแต่ละวัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ
3. โครงการบางกอกน้อยปลอดภัยไร้โรคอ้วน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ประชาชนห่างไกลจากโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) อย่างยั่งยืน

4. โครงการพัฒนาการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ให้บริการเชิงรุกด้วยหลักการของการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน (Community-based Rehabilitation) ประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา สังคม และการเสริมพลัง พร้อมทั้งอบรมวิทยากรชุมชน เพื่อดูแลคนในชุมชนของตนเอง

5. โครงการการพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนรู้เพศวิถีและการให้การปรึกษาทางเพศในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อาศัยความร่วมมือของวัยรุ่น ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารโรงเรียน สำหรับการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ป้องกันปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ความรุนแรงด้านเพศสภาวะ และความไม่เท่าเทียม

6. โครงการการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในชุมชน โดยการเรียนรู้ทางแอพพลิเคชั่น ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลที่นำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น

7. โครงการแกนนำเฝ้าระวังเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชนเมืองวิถีใหม่ อบรมเชิงปฏิบัติการให้มีทักษะการตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว การใช้เครื่องวัดความดันโลหิต และสามารถแปลผลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง เสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการตรวจคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ด้วยชุมชนเอง และ

8. โครงการต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในศูนย์เด็กเล็กชุมชนบางกอกน้อย ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ร่วมจัดทำโปรแกรมกิจกรรมเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการช่วยเหลือตนเองที่ไม่ซับซ้อน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเกิดการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับชุมชน โดยรูปแบบร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน พร้อมทั้งผนวกการบูรณาการสหสาขาวิชาชีพขับเคลื่อนสู่การเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ส่งผลให้เกิดโครงการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ นอกจากนี้ ชุมชนได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เปิดโอกาสให้พัฒนาศักยภาพในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและดูแลสุขภาพได้ด้วยชุมชนเอง โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ